:: In Focus: การเมืองและเศรษฐกิจในการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก   / วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555
                                                                                                                                                                                                              พิมพ์หน้านี้
 

    ข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2555 14:58:00 น.
บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดฉากเยือนเอเชีย พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยตนเอง หลังจากที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ได้ไม่นาน โอบามาเปิดฉากเยือนไทยก่อนเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน หลังจากนั้น จึงเดินทางไปเยือนพม่า และต่อด้วยกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สื่อทั่วโลกต่างเกาะติดการเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันอย่างเต็มที่ ในขณะที่ ข้อตกลงการค้าและสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นวาระสำคัญของการประชุม นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ยังมีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วยเช่นกัน

ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน โอบามาเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พร้อมกับผู้นำจากอาเซียน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ในการพบปะกันระหว่างโอบามากับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น ผู้นำสหรัฐและจีนไม่ได้แสดงความเห็นกับสื่อมวลชนที่ยิงคำถามมาในเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ถือเป็นประเด็นทางการเมืองที่แม้ว่า หลายฝ่ายจะพยายามหาทางออกอย่างสันติ แต่ด้วยผลประโยชน์จากทรัพยากร และเศรษฐกิจ เหล่าประเทศที่อ้างในกรรมสิทธิ์ในดินแดนรูปตัวยูในทะเลจีนใต้ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ด้วยนั้น กลายเป็นวาระร้อนในระดับหนึ่งของการประชุมปีนี้

แม้ว่าประเทศสมาชิกหลายประเทศจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการรับมือกับข้อขัดแย้งในประเด็นทะเลจีนใต้ที่จีนได้เสนอมา ผู้นำญี่ปุ่นและจีนก็ได้แสดงจุดยืนของประเทศอย่างชัดเจน นอกจากประเด็นทะเลจีนใต้แล้ว การจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีก็เป็นวาระเด่นของการประชุมครั้งนี้เช่นกัน

นายกฯญี่ปุ่นห่วงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้
จีนและฟิลิปปินส์เปิดฉากปะทะกันในเวทีการประชุมเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ขณะที่โอบามาได้ออกมาเตือนในที่ประชุม เพราะไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวลุกลามบานปลาย

ในระหว่างการพูดคุยเป็นเวลา 25 นาที นอกรอบการประชุมอาเซียนในกัมพูชากับโอบามานั้น นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องความมั่นทางทางทะเลในเอเชีย โดยนายโนดะขานรับนโยบายในการให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของสหรัฐ และแสดงความยินดีที่นายโอบามาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง

ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวว่า ในขณะที่สภาพความมั่นคงในเอเชียตะวันออก อยู่ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียดนั้น การเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นและสหรัฐก็มีความสำคัญมากขึ้น โดยญี่ปุ่นหวังว่าจะได้พัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์พันธมิตรและผลักดันความร่วมมือต่างๆไปได้ด้วย

ในการประชุมสุดยอดนั้น นายโนดะได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความกังวลของญี่ปุ่นที่มีต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางกองทำเรือจีนในน่านน้ำที่เต็มไปด้วยทรัพยากร

ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับทะเลจีนใต้นั้นถือเป็นเรื่องที่นานาประเทศให้ความเป็นห่วง

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรงในการอ้างสิทธิในดินแดนที่เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ แต่ญี่ปุ่นก็อยากจะช่วยเหลือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นจะตกอยู่ในภาวะที่ตึงเครียดอันเนื่องมาจากการอ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออกก็ตาม

ผู้นำแดนมังกรปกป้องอำนาจอธิปไตย พร้อมยึดมั่นในสันติภาพ
นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวถึงจุดยืนของจีนที่มีต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและทะเลจีนใต้ว่า เอเชียตะวันออกยังคงอยู่ในสถานะที่สันติและมีเสถียรภาพ ซึ่งตรงกันข้างกับบางภูมิภาคในโลกที่เกิดความขัดแย้ง ข้อพิพาท หรือแม้กระทั่งสงครามที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งสภาพดังกล่าวเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

นายกฯจีนได้กล่าวถึงเกาะหวงหยาน ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่า เกาะหวงหยานเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน ดังนั้นอำนาจอธิปไตยของเกาะจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ การปกป้องอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะจึงเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและเป็นเรื่องจำเป็น จุดยืนของจีนต่อประเด็นในทะเลจีนตะวันออก จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

จีนให้ความสำคัญกับสันติภาพ เสถียรภาพ การเดินเรือที่เป็นอิสระ และความปลอดภัยในทะเลจีนใต้ และหวังว่า เส้นทางเดินเรือสากลในทะเลบนน่านน้ำทะเลจีนใต้จะถูกใช้งานมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยจีนยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันและการยึดมั่นเพื่อที่จะปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จีนยังคงรับมือกับประเด็นฉุกเฉินที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากจีนได้อย่างเหมาะสม

จากจุดยืนที่นายกฯจีนได้กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า จีนมีความชัดเจนในเรื่องการปกป้องในอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือเกาะในทะเลจีนใต้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้คงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะหาข้อยุติได้ เพราะฟิลิปปินส์เองก็ไม่ยอมลดราวาศอกในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

แม้ว่า ประเด็นความขัดแย้งจะยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เราก็ได้เห็นว่า สหรัฐนั้น พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยตนเอง อีกทั้งยังเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชีย

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวกับสื่อภายหลังการประชุมว่า โอบามาระบุว่า สหรัฐจะสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่ม และผู้นำอาเซียนก็ขานรับกับแถลงการณ์ดังกล่าว โดยสหรัฐให้คำมั่นว่าจะมีส่วนร่วมทั้งด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาค

ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค: วาระเด่นด้านเศรษฐกิจของที่ประชุม
สำหรับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจนั้น ที่ประชุมอาเซียนได้เปิดฉากเจรจาในเรื่องการจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งหากบรรลุผล ข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ได้เริ่มต้นเจรจาประเด็น RCEP ในการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจะจัดขึ้นอีกครั้งในปี 2556 โดยเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ในภูมิภาคคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หาก RCEP ประสบผลสำเร็จจะก่อให้เกิดการลงทุนและการค้าทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่อง RCEP แล้ว เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ยังเห็นชอบเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีในที่ประชุม ซึ่งคาดว่า จะเริ่มต้นใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในปีหน้า ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ได้เรียกร้องให้ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลกลงทุนมากขึ้น รวมทั้งให้คำมั่นในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีแบบฟาสท์แทรค

พม่าเองก็มีความคืบหน้าในเรื่องข้อตกลงทางเศรษฐกิจ โดยไทยและพม่าได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกัน เพื่อผลักดันการลงทุนตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หรือ "Dawei Special Economic Zone" (DSEZ) มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่ญี่ปุ่นและอินเดียก็ได้แสดงความสนใจที่จะริเริ่มความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน

หลากมุมมองจากหลายสำนัก
มาร์ค มาร์เดล บรรณาธิการประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือของบีบีซี มองว่า เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ ขณะที่การฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาก็ขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องดังกล่าว ประธานาธิบดีกำลังพยายามทำข้อตกลงการค้าเสรีที่หลากหลายกับนานาประเทศในภูมิภาค เอเชียเป็นพื้นที่แห่งการดิ้นรนระหว่างสองขั้วแห่งพลัง ทั้งอุดมคติและเสาหลักแห่งอำนาจ

โจนาห์ ฟิชเชอร์ จากบีบีซี มองว่า การประชุมอาเซียนสิ้นสุดลงอย่างเผ็ดร้อน โดยที่ประชุมไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องวิธีการคลี่คลายข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนกับจีนได้

ขณะที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหัววิเคราะห์ว่า ยังมีข้อกังขาในเรื่องบทบาทของอาเซียนในประเด็น RCEP เนื่องจากอาเซียนยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แต่กลุ่มผู้สังเกตการณ์ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว

ซู หนิงหนิง รองเลขาธิการสภาธุรกิจจีนและอาเซียน กล่าวว่า ข้อตกลงด้านการค้าเสรีที่มีอยู่เดิม 5 ฉบับระหว่างอาเซียนและจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น ช่วยปูพื้นฐานที่ดี นอกจากนี้ มติเรื่องการส่งเสริมพันธมิตรด้านเศรษฐกิจใของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน ก็ช่วยสนับสนุนการสรุปข้อตกลงด้วยเช่นกัน

ซูมองว่า RCEP นั้น น่าจะได้รับการยอมรับได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับข้อตกลงความร่วมมือข้ามแปซิฟิก (TPP) ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศเปิดกว้างมากขึ้น เพราะต้องการเปิดตลาดของประเทศสมาชิก แม้ว่าจะยังมีช่องว่างของการพัฒนาอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรการค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีมูลค่าการค้าทวิภาคีกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 8.2% ต่อปี แตะ 2.88 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่กัมพูชาปิดฉากลงด้วยพิธีการส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไปให้กับบรูไน การคลี่คลายสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ข้อตกลงการค้าเสรี และ RCEP จะคืบหน้าต่อไปอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

อินโฟเควสท์ โดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--
ที่มา: http://www.ryt9.com/s/iq02/1534929
 





www.ipsr.mahidol.ac.th - Revised: 28 สิงหาคม 2552
Copyright ©สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
73170  โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333 Web master : prwww@mahidol.ac.th