:: ทำเกษตรกรให้เป็นเศรษฐี   / วันที่ 26 มิถุนายน 2556
                                                                                                                                                                                                              พิมพ์หน้านี้
 

    ในวารสาร "การเงินการธนาคาร" เดือน มิถุนายน นำเรื่องราวของคุณลี กุน ฮอง เกษตรกรเสรษฐีเกาหลีใต้ ซึ่งทิ้งงานในตำแหน่งผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรี และเงินเดือนหลายแสนไปเป็นชาวไร่ปลูกผล "บลูเบอร์รี่" ขาย จนร่ำรวยเป็นเศรษฐีขี่รถเบนซ์ ทำให้ชาวเมืองโสมเริ่มเอาอย่างกันมากขึ้น

ผมอ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจดี จึงขออนุญาตนำเรื่องราวเกษตรกรเศรษฐีเมืองโสมผู้นี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็น "ความหวัง" ของ "ชาวนาไทย" ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ "โซนนิ่งพื้นที่เกษตร" ยุบนาที่ไม่ควรจะปลูกข้าว เพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ได้ราคามากกว่าข้าว

คุณลียอมรับว่า ไม่ใช่เกษตรกรเมืองโสมทุกคนจะขี่รถเบนซ์อย่างเขาได้ ยกเว้น เกษตรกรที่ยอมเปลี่ยนแนวคิดการทำการเกษตรเป็น "เกษตรกรรมแผนใหม่" โดยเน้นในเรื่อง "คุณภาพพืชผล" อย่างจริงจัง ต้องปลอดสารพิษเด็ดขาด และทำการตลาดแบบออนไลน์เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางไปให้หมด

ลีตัดสินใจใช้เงินออมทั้งชีวิต 1,300 ล้านวอน ซื้อที่ดิน 8.3 เอเคอร์ ห่างจากกรุงโซลราว 160 กม. ทำไร่ปลูกผลบลูเบอร์รี่ขาย ช่วงแรกก็ลองผิดลองถูก แต่ไม่นานก็จับทิศทางได้ วันนี้เขามีรายได้ปีละ 180,000 ดอลลาร์ 5.6 ล้านบาท สูงกว่ารายได้เกษตรกรกิมจิแบบดั้งเดิม 6 เท่า

ชาวเกาหลีใต้วันนี้ สนใจจะย้ายจากชุมชนเมืองที่แออัดเพื่อไปทำเกษตรกรรมในสังคมชนบทมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯเกาหลี รายงานว่า ปี 2012 มีครัวเรือนในเมืองย้ายไปสู่ชนบทเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 27,008 ครัวเรือน ประมาณ 47,322 คน มีตรัวเรือนที่ลงทุนทำฟาร์ม 11,220 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 11% เกษตรกรเหล่านี้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 38% และอายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา 36%

แนวโน้มคนเมืองจะอพยพไปสู่สังคมชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงอายุที่กำลังจะเกษีนณในเร็วๆนี้จำนวน 7 ล้านคนในเกาหลีใต้

สมัยก่อน เกาหลีใต้ก็เป็นสังคมเกษตรกรรมเหมือนประเทศในเอเชียทั่วไป แต่เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยประธานาธิบดีปัก จุง ฮี นักธุรกิจกลุ่มแชโบล อาทิ ซัมซุง, ฮุนได, แอลจี ฯลฯ เข้าผูกขาดอุตสาหกรรมหลัก โดยมีรัฐบาลสนับสนุนเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเกาหลีก้าวไปข้างหน้า ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว

การเติบโตของอุตสาหกรรมยุคนั้น ดึงดูดให้คนในชนบทเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น จนในที่สุดภาคการเกษตรก็แคระแกร็น เพราะไม่มีคนทำงาน ทุกวันนี้เกษตรกรเมืองโสมสามารถผลิตอาหารป้อนคนในประเทศได้แค่ 45% เท่านั้น จากเดิมที่เคยป้อนได้ถึง 80%

แต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจเมืองโสมซบเซา จีดีพีขยายตัวแค่ 2% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซ้ำยังโดนญี่ปุ่นกดค่าเงินเยนจนอ่อนยวบ กระทบต่อการส่งออกของเกาหลีใต้ ส่งผลให้ครัวเรือนเกาหลีใต้ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากมาย สิ้นปี 2012 ครัวเรือนเกาหลีใต้มีหนี้สินพุ่งขึ้นสูงถึง 960 ล้านล้านวอน ส่งผลให้คนเมืองจำนวนมากอพยพกลับสู่ชนบทมากขึ้น

คาดกันว่า คนเกาหลีใต้รุ่นกลางเก่ากลางใหม่มีแนวคิดจะอพยพไปสู่สังคมชนบทที่สงบเงียบและมีอิสระมากขึ้น สังคมเมืองวันนี้ แม้จะโดดเด่นเรื่องการศึกษาและความปลอดภัย แต่ผู้คนกลับมีแต่ความหดหู่ ไม่มีความสุข จากการสำรวจคุณภาพชีวิตใน 34 ประเทศที่พัฒนาแล้ว เกาหลีใต้อยู่อันดับเกือบบ๊วย

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เกษตรกรเมืองโสมวันนี้ไม่ค่อยปลูก "ข้าว" เป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะวันนี้ ชาวโสมกินข้าวกันน้อยลง การปลูกข้าวมีต้นทุนสูง ทำตลาดยาก ชาวนาส่วนใหญ่จึงปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้กินเองเท่านั้น

คุณลี ที่ผันตัวเองจากคนเมืองมาเป้นเกษตรกร บอกว่า พืชที่ปลูกต้องเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถทำเงินได้ด้วย อบ่างบลูเบอร์รี่ที่ทำรายได้ให้เขาเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเขาทดลองจนสามารถเพิ่มผลผลิตนอกฤดูกาลได้

โดย "ลม เปลี่ยนทิส"
จาก ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/353338

วันที่ 26 มิถุนายน 2556

 





www.ipsr.mahidol.ac.th - Revised: 28 สิงหาคม 2552
Copyright ©สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
73170  โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333 Web master : prwww@mahidol.ac.th