:: เสวนาวิชาการ “ประเทศไทยในกระแสทุนนิยมโลก   / วันที่ 20 มิถุนายน 2555
                                                                                                                                                                                                              พิมพ์หน้านี้
 

   

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยมีความเสี่ยงสูง หากยังคงให้ความสำคัญกับทุนนิยมการเงิน ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจนับครั้งไม่ถ้วน

ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12 ปาฐกถาเรื่อง “จักรวรรดินิยมกับประเทศไทย” โดยรองศาสตราจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด กล่าวว่า รัฐไทยในปัจจุบันอยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบทุนนิยมโลกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวรรดิอเมริกา

โดยนโยบายเศรษฐกิจที่ไทยได้ดำเนินตามแนวทางที่ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสหรัฐฯ กำหนดไว้ ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูง เพราะนโยบายดังกล่าวเน้นการขยายตัวภาคการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ ขณะที่ชนชั้นกลางต้องรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และคนในระดับรากหญ้าก็ต้องเผชิญกับความยากจนมากกว่าเดิม

ที่สำคัญ ทุนนิยมการเงินเป็นสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2541 หรือวิกฤติหนี้ของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

โดยวงเสวนา“ประเทศไทยในกระแสทุนนิยมโลก” ชี้ว่า งานวิชาการของรองศาสตราจารย์กุลลดา หลายชิ้นช่วยเปิดประเด็นการศึกษาใหม่ๆ ในวงวิชาการรัฐศาสตร์ไทย เช่น การมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนนิยมระดับโลก หรือการทำงานของระบบทุนนิยมที่อธิบายจากมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เห็นว่า ทุนนิยมมีวิวัฒนาการมานาน และได้มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันตลอดมา นอกจากนี้ ก็ยังมีแง่มุมที่ไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยจากภาครัฐ อย่างเช่น สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมเวทีสัมนา ได้ยกย่องคุณูปการของแนวทางการศึกษาของรองศาสตราจารย์กุลลดา ว่า เป็นกระแสทางเลือก ที่ท้าทายคำอธิบายกระแสหลัก แต่มีคำอธิบายที่โดดเด่นกว่างานวิชาการทั่วไป เพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจน และมีเหตุผลรองรับที่ตรงกับความเป็นจริง
 





www.ipsr.mahidol.ac.th - Revised: 28 สิงหาคม 2552
Copyright ©สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
73170  โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333 Web master : prwww@mahidol.ac.th